พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์
อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
องค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี (จำลอง)
สระโกสินารายณ์
พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์
พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 19 ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ก่อสร้างขึ้นโดยเทศบาลเมืองท่าผา เปิดให้เข้าชมครั้งแรกปี 2557 สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ห้องสมุดสำหรับผู้ต้องการศึกษา และแหล่งท่องเที่ยวสำหรับประชาชน ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองโกสินารายณ์ หรือในอดีตสันนิษฐานว่าเป็น ศมฺพูกกฏฏนมฺ หรือ ศัมพูกปัฏฏนะ เป็นเมืองในอดีต สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นอกจากนี้ภายในยังจัดแสดงเกี่ยวกับอารยธรรมเขมรในลุ่มน้ำแม่กลอง และเหตุการณ์ที่สระโกสินารายณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมฟรี วันพุธ – อาทิตย์ ระหว่างเวลา 10:00 – 16:00 น. หยุดทำการวันจันทร์ – อังคาร การเดินทาง : จากสี่แยกแสงชูโต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มุ่งหน้าไปทางจังหวัดกาญจนบุรีบนถนนแสงชูโต มาประมาณ 4 กม. เลี้ยวขวาตรงจุดกลับรถมุ่งหน้าไปโรงงาน SCG จากนั้นเมื่อข้ามสะพานคลองชลประทานให้ชิดซ้ายและเข้าซอยทางซ้ายมือข้างโรงงาน SCG ขับเลียบกำแพงมา เลี้ยวขวาตามทางโค้งจะเห็นซุ้มประตูทางเข้าสระโกสินารายณ์ ติดต่อสอบถามโทร. 032-302-117 ต่อ 334
ข้อมูลท่องเที่ยว
- ชื่อ : พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์
- ประเภท : พิพิธภัณฑ์
- หน่วยงานรับผิดชอบ : เทศบาลเมืองท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
- ความสำคัญ : เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์
- สิ่งที่น่าสนใจ : องค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี
- ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ด้านข้างสระโกสินารายณ์ฝั่งทิศตะวันตก หลังโรงงาน SCG หมู่ 19 ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
- การเดินทาง : จากสี่แยกแสงชูโต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มุ่งหน้าไปทางจังหวัดกาญจนบุรีบนถนนแสงชูโต มาประมาณ 4 กม. เลี้ยวขวาตรงจุดกลับรถมุ่งหน้าไปโรงงาน SCG จากนั้นเมื่อข้ามสะพานคลองชลประทานให้ชิดซ้ายและเข้าซอยทางซ้ายมือข้างโรงงาน SCG ขับเลียบกำแพงมา เลี้ยวขวาตามทางโค้งจะเห็นซุ้มประตูทางเข้าสระโกสินารายณ์
- เวลาเปิดบริการ : วันพุธ – อาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น. (หยุดวันจันทร์-อังคาร)
- ค่าบริการ : ฟรี
- สิ่งอำนวยความสะดวก : ห้องน้ำแยกชายหญิง , Free Wi-Fi
- สถานที่จอดรถ : กว้างขวาง รองรับกลุ่มทัวร์ได้
- Website : –
- Facebook : –
- โทรศัพท์ : 032-302-117 ต่อ 334
ภาพถ่าย
สระโกสินารายณ์ ชื่อนี้มาจากไหน?
สระโกสินารายณ์ เป็นโบราณสถาณอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ในบริเวณใกล้เคียงกับเมืองโบราณสระโกสินารายณ์ ปรากฏหลักฐานว่าได้เริ่มมีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยแล้ว เมื่อประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว เช่น บริเวณเขาสะพายแร้ง ตั้งอยู่ห่างจากเมืองโบราณสระโกสินารายณ์ ไปทางทิศหนือประมาณ 10 กิโลเมตร พบหลักฐานคือ ขวานหิน ภาชนะดินเผา และกลองมโหระทึกเป็นต้น
♦ สระโกสินารายณ์ มีชื่อที่มาจากข้อสันนิษฐานต่างๆ บ้างกล่าวว่า “ในสระน้ำมีพระนาราย หรือ เป็นสระน้ำของพระนารายณ์”
บ้างก็กล่าวว่า “สระโกสินารายณ์น่าจะเป็นคำที่แผลงมาจากภาษาเขมร คือ บาราย ที่แปลว่าสระน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ”
♦ หลักฐานที่กล่าวถึงเมืองโกสินารายณ์ที่เก่าแก่ที่สุด ปรากฏอยู่ในนิราศพระแท่นดงรัง ของเสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตร) กวีในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่งขึ้นในราว พ.ศ. 2379 (หมื่นพรหมสมพัตร.2504) ช่วงที่ท่านเดินทางผ่านเขตบ้านโป่งเข้าสู่พระแท่นดงรังบรรยายถึงอดีตของบ้านเมืองแถบนี้ว่าเดิมชื่อกรุงโกสินารายณ์ เป็นเมืองของพระยามลราช ดังต่อไปนี้
…โอ้พระแท่นแผ่นผาอยู่ป่าดอน แต่ปางก่อนที่นี่เป็นที่เมือง
ชื่อกรุงโกสินารายณ์สบายนัก เป็นเอกอัครออกชื่อย่อมลือเลื่อง
ทั้งแก้วแหวนเงินทองก็นองเนือง ไม่ฝืดเคืองสมบัติกษัตรา
มีสวนแก้วอุทยานสำราญรื่น ดูดาษดื่นดอกดวงพวงบุปผา
ปลูกไม้รังตั้งแท่นแผ่นศิลา คือแผ่นผาอันนี้ท่านนิพพาน
ของพระยามลราชประสาทไว้ ย่อมแจ้งใจทุกประเทศเขตต์สถาน
ที่สำคัญมั่นหมายหลายประการ สมนิพพานเรื่องเทศน์สังเกตฟัง
แต่บ้านเรือนสูญหายกลายเป็นป่า พยัคฆาอาศัยดังใจหวัง
พระอุทยานร้างราเป็นป่ารัง อนิจจังอนาถจิตต์อนิจจา
ศมฺพูกกฏฏนมฺ หรือ ศัมพูกปัฏฏนะ
ศมฺพูกกฏฏนมฺ หรือ ศัมพูกปัฏฏนะ สันนิษฐานว่าคือ เมืองสระโกสินารายณ์ในปัจจุบัน คำว่า “ศามพูกะ” เป็นชื่อเมืองหนึ่งปรากฏอยู่ในจารึกฐานพระพุทธรูปยืน รูปกลีบบัว สมัยทราวดี พบที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ได้กล่าวว่า ” นายก อารุชวะ เป็นอธิบดีแห่งชาวเมืองตังคุระ และเป็นโอรสของพระราชาแห่งศามพูกะได้สร้างรูปพระมุณีองค์นี้
ในเวลานั้นนักวิชาการสันนิษฐานว่า เมืองศามพูกะ น่าจะเป็นบ้านเมืองที่อยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทย ในเวลาต่อมาชื่อเมืองนี้ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ในจารึกกล่าวว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างรูปพระรัตนตรัยระบุชื่อเมืองว่า “ศมฺพูกกฏฏนมฺ” โดยจารึกปราสาทพระขรรค์มี 4 ด้าน ด้านละ 72 บรรทัด ข้อความในจารึกเป็นภาษาสันสกฤต แต่งเป็นโศลกมีข้อความกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัย สรรเสริญพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชประวัติกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่พระจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้าง ข้อความที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยคือ ในด้านที่ 3 ตอนที่กล่าวถึงการสร้างพระพุทธชัยมหานาถแล้วพระราชทานให้เมืองต่างๆ 23 แห่งในจำนวนนี้มีบางเมืองที่นักวิชาการบางส่วนสันนิษฐานว่าอยู่ในบริเวณลุ่มภาคกลางของประเทศไทย
ซึ่งชื่อเมืองต่างๆ ที่ปรากฏในจารึกนั้นมีข้อสันนิษฐานตามหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏดังนี้
- ลโวทยปุรํ สันนิษฐานว่าคือ เมืองลพบุรี
- สุวรรฺณปุรํ สันนิษฐานว่าคือ เมืองสุพรรณบุรี
- ศมฺพูกปฏฏนมฺ สันนิษฐานว่าคือ เมืองสระโกสินารายณ์
- ชยราชบุรี สันนิษฐานว่าคือ เมืองราชบุรี
- ศฺรีชยสีหปุรี สันนิษฐานว่าคือ เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี
- ศฺรีชยวชฺรปุรี สันนิษฐานว่าคือ เมืองเพชรบุรี
(หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, 2509-56)
ศมฺพูก อ่านว่า สัม-พู-กะ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า หอยสังข์ มีความหมายเหมือนกับ กัมพู,กำพู และกำภู (ราชบัณทิตยสถาน, 2554)
* ในการสัมภาษณ์ ดร.บำรุง ชำนาญเรือ (อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาหลักสูตรและวิธีสอน สาชาวิชาการสอนภาษาไทย) ท่านได้กล่าวว่า ” ศมฺวูกปฏฏนมฺ มีความหมายเดียวกับคำ ศมฺพูกกฏฏนมฺ เพราะในภาษาสันสกฤต เสียง ว กับ พ ออกแทนกันได้” ปฏฏนมฺ อ่านว่า ปัด-ตะ-นัม บ้างก็ออกเสียงเป็น ปัด-ตะ-นะ แปลว่า แผ่นดิน หรือ ท่าเรือ
การขุดค้นทางโบราณคดี เมืองโบราณสระโกสินารายณ์ ในปี พ.ศ. 2509
รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถาน บริเวณสระโกสินารายณ์ (2509: 35-45) กล่าวว่าการขุดแต่งโบราณสถานบริเวณสระโกสินารายณ์ เริ่มจากหนังสือของผู้ว่าราชการจังหวัดลงวันที่ 1 ธันวาคม 2508 ว่าพบอิฐโบราณเป็นจำนวนมากบริเวณที่ดินของนายนคร ลิ้มประเสริฐศักดิ์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของสระโกสินารายณ์ และมีผู้พบเศียรพระพุทธรูปและเทวรูป รวมถึงพระพิมพ์บริเวณรอบสระโกสินารายณ์ กรมศิลปากรจึงส่งนายมานิต วัลลิโภดม กับนายจำรัส เกียรติก้อง ไปสำรวจสภาพก่อนการขุดแต่งโบราณสถาน ต่อมาจึงมอบหมายให้นายตรี อมาตยกุล เป็นผู้ควบคุมและอำนวยการขุดแต่งและขุดค้น นายจำรัส เกียรติก้อง เป็นผู้ชวยทำแผนผัง นายหวัน แจ่มวิมล เป็นนายงาน นายสมชาย พุ่มสะอาด เป็นผู้จดรายการสิ่งของที่ขุดได้พร้อมถ่ายรูป และขอให้นายอำเภอบ้านโป่งช่วยจัดจ้างคนงานคนงานโดยคัดเลือกจ้างจากชาวบ้านที่ตำบลท่าผา จำนวน 20 คน การขุดแต่งเริ่มในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2509 โดยถางพงหญ้าเริ่มเตรียมพื้นที่สำหรับการขุดแต่ง เมื่อถางหญ้าออกเรียบร้อยแล้วทำให้เห็นสภาพเนินโบราณสถานเป็นรูปกากบาท คล้ายเป็นมุข 4 ทิศ ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2509 เริ่มขุดบริเวณระหว่างมุขด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกพบศิลาแลงที่สลายตัวผุพัง ไม่เป็นแท่ง ต่อมาได้ขุดตรวจบริเวณกลางเนิน ซึ่งเคยมีผู้ลักลอบขุดแล้ว เมื่อขุดลึก 6 เมตร พบกระโหลกศีรษะจระเข้และกระดองเต่า จากนั้นเมื่อขุดลึกลงไปอีกพบฐานเทวรูปทำจากหินทราย
นอกจากนั้นการขุดตรวจครั้งนี้พบหินทรายแดงไม่สลักลวดลายหลายแห่ง ขนาดยาวประมาณ 100 – 180 เซนติเมตร กว้าง 45 – 50 เซนติเมตร สันนิษฐานว่า เป็นกรอบประตูกลีบขนุน หินทรายแดง 1 ชิ้น สลักรูปพระพุทธประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว ชิ้นส่วนพระกร 5 พระกร ทำจากินทรายแดง ถือดอกบัว คัมภีร์ ลูกประคำ เป็นต้น จึงสันนิษฐานว่าเป็นพระกรของพระโพธิสัตว์ พระบาทบนแท่นฐานทำจากหินปูนสีเขียว เศียรพระโพธิสัตว์หินทรายสีแดงลวยลายปูนปั้นรูปแบบศิลปะอิทธิพลเขมรจำนวนมาก และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่สุดในการขุดแต่งในครั้งนี้คือ ส่วนพระวรกายของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ทำจากหินปูนสีเขียวมีความสูงประมาณ 1.15 เมตร พบบริเวณระหว่างมุมด้านตะวันออกและด้านใต้ จากนั้นได้ขุดเลาะชายเนินไปทางด้านทิศตะวันตกได้พบฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ทำจากหินทรายสีแดง 2 ชิ้น กว้าง 135 เซนติเมตร สูง 45 เซนติเมตร และกว้าง 60 เซนติเมตร สูง 35 เซนติเมตร
จากการสำรวจและทำแผนผังเมืองของนายตรี อมาตยกุล หัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ และนายจำรัส เกียรติก้อง ช่างศิลปะเอกกองโบราณคดี ในปี พ.ศ. 2509 ทำให้ทราบว่าเมืองโบราณสระโกสินารายณ์ มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างยาวด้านละ 960 เมตร มีคูน้ำและคันดินโดยรอบ คูน้ำนั้นตื้นเขินหมดแล้ว ส่วนคันดินสูงจากระดับพื้นประมาณ 60 เซนติเมตร กว้างประมาณ 10 เมตร พบโบราณสถานก่อด้วยอิฐทั้งในเมืองและนอกเมืองหลายแห่งแต่ได้ถูกขุดทำลายลงเกือบทั้งหมดเหลือแต่เพียงฐานและเศษซากอิฐเป็นกองๆ ภายในกำแพงเมืองมีสระน้ำหลายสระ เช่น สระนาค สระจระเข้ สระจอก สระแก้ว และสระมังกร ส่วนสระนาคนั้นมีลำคลองเล็กๆ เชื่อมกับแม่น้ำแม่กลอง
ประวัติการก่อสร้าง พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์
พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์ ก่อสร้างใช้งบประมาณโครงการตามแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดราชบุรี ประจำปีงบประมาณ 2555 ประสานงบประมาณในการก่อสร้างโดย คุณชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 จังหวัดราชบุรี โดยการก่อสร้างเฉพาะตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ และในปีงบประมาณ 2556 ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีเร่งด่วนในการดำเนินการตามโครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกสินารายณ์ โดยมีห้องจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ค้นพบ ณ โบราณสถานสระโกสินารายณ์ ประสานงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าวโดย คุณทรงยศ อรัญยกานนท์ นายกเทศมนตรีเมืองท่าผาในปัจจุบัน โดยเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกสินารายณ์ เมื่อ วันที่ 22 สิงหาคม 2557 สถิติปัจจุบัน ณ วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2559 มีประชาชนเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกสินารายณ์แล้วจำนวนทั้งสิ้น 48,590 คน
แผนที่