วัดถ้ำสาริกา

อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

IMG_6110_resize_resize
IMG_6066_resize_resize

วัดถ้ำสาริกา

ราชบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นถ้ำน้อยใหญ่อยู่หลายแห่ง   “ถ้ำสาริกา” ใน ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี  เป็นอีกถ้ำหนึ่งที่มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งหนึ่งได้เข้าแวะพักยังถ้ำสาริกา พร้อมไพร่พล  ถ้ำสาริกา มีลักษณะเด่น เป็นถ้ำที่มีหินงอก หินย้อยสวยงาม ภายในเป็นห้องโถงใหญ่ แล้วแยกเป็นถ้ำร้อน ถ้ำเย็น ถ้ำสาลิกาเดิมมีชื่อว่า ถ้ำตีเหล็ก เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ตีเหล็กของชาวบ้านในสมัยก่อน และการที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น ถ้ำสาริกา เพราะชาวบ้านสมัยนั้นได้เข้าไปในถ้ำ และพบเห็นนกสาริกาอยู่หลายคู่จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นถ้ำสาริกา   ราวปี พ.ศ. 2511 มีการสร้างปูชนีวัตถุ 2 รูป คือ พระสังกระจาย และพระสีวรี พร้อมถวายเงินสร้างบันไดขึ้นถ้ำจนสำเร็จ  สมัยก่อนเป็นสำนักสงฆ์ มีผู้แวะเวียนมาปฏิบัติธรรมอยู่เป็นประจำ ต่อมาจึงได้รับอนุญาตให้เป็นวัดถ้ำสาริกา เมื่อปี พ.ศ. 2530  ที่นี่เงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม

ข้อมูลท่องเที่ยว

ชื่อ :   วัดถ้ำสาริกา

ประเภท : พุทธศาสนาสถาน(วัด) , ถ้ำธรรมชาติ

ที่ตั้ง :   หมู่ที่ ๘ ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

เปิดเข้าชม :   08.30 น. –17.00 น.

ค่าเข้าชม :   ฟรี

เนื้อที่ :   22 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา

สถานที่จอดรถ :  กว้างขวาง

สิ่งอำนวยความสะดวก :  ห้องน้ำวัด

ร้านอาหารเครื่องดื่ม : ไม่มี

กิจกรรม

  • นมัสการพระพุทธรูป ภายในถ้ำ , พระสังกระจาย และพระสีวรีบริเวณเชิงเขา
  • ชมความงามภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย และเคยเป็นสถานที่ตีเหล็กของชาวบ้านในสมัยก่อน

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง :  วัดหนองหอย , วัดถ้ำน้ำ , อุทยานหินเขางู , วัดเขาช่องพราน(ชมค้างคาว)

ภาพถ่าย

 ประวัติถ้ำสาริกา

ถ้ำสาริกา มีลักษณะเด่น เป็นถ้ำที่มีหินงอก หินย้อยสวยงาม ภายในเป็นห้องโถงใหญ่ แล้วแยกเป็นถ้ำร้อน ถ้ำเย็น ถ้ำสาลิกาเดิมมีชื่อว่า ถ้ำตีเหล็ก เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ตีเหล็กของชาวบ้านในสมัยก่อน และการที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น ถ้ำสาริกา เพราะชาวบ้านสมัยนั้นได้เข้าไปในถ้ำ และพบเห็นนกสาริกาอยู่หลายคู่จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นถ้ำริกา จนถึงปัจจุบัน

ถ้ำสาริกาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชทรงเป็นแม่ทัพในการทำสงครามในช่วงเวลานั้น นายทองด้วง (ร.๑) ได้ดำรงตำแหน่งเป็นหลวงยกระบัตร หรือเป็นพ่อเมืองราชบุรี ซึ่งมีความชำนาญในพื้นที่ ได้เป็นผู้นำทางให้กับพระเจ้าตากฯ และในครั้งนั้นพระเจ้าตากฯ ได้เข้าแวะพักยังถ้ำสาริกา พร้อมไพร่พล และได้นำไพร่พลเดินทางต่อไปยังเมืองจันทบุรี และในเวลาต่อมา นายทองด้วงก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จประพาสโดยทางเรือเพื่อศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ และเสด็จประพาสมายังถ้ำสาริกา เพื่อทรงศึกษาเส้นทางการทำสงครามของพระเจ้าตากสินมหาราช โดยมีหลักฐานการประพาสครั้งนั้น ปรากฏบนแผ่นหิน โดยการสลักลงบนหินทางด้านขวามือก่อน ทางขึ้นถ้ำฯจนถึงสมัย (ร.ศ.๑๑๘) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงเสด็จประพาสศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ เพราะทรงเห็นว่าสมเด็จพระราชบิดา รัชกาลที่ ๔ เสด็จประพาสยังถ้ำแห่งนี้ จึงเสด็จประพาสมายังถ้ำแห่งนี้บ้าง โดยมีหลักฐานปรากฏ (พระปรมาภิไธย ย่อ จ.ป.ร.) โดยการสลักบนหินบริเวณปากทางก่อนเข้าถ้ำด้านบนซ้ายมือ ฉะนั้นถ้ำสาริกา จึงเป็นถ้ำที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ควรแก่กากรอนุรักษ์และการศึกษาของอนุชนรุ่นหลัง เพราะปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์ถึง ๔ พระองค์ ทรงเคยเสด็จมายังถ้ำนี้ ภายในของถ้ำก็มีความสวยงามของหินงอกหินย้อยตามธรรมชาติ และภายในยังมีพระประธาน (หลวงพ่อใหญ่) ประดิษฐานอยู่ โดยมี หลวงพ่อแทน ธมฺมโชติ วัดธรรมเสน เป็นผู้สร้างพระประธาน

ในอดีตภายในถ้ำก็ยังเป็นที่อาศัยของนกสาริกา หลายคู่ เพราะเหตุนี้จึงเรียกถ้ำนี้ว่า ถ้ำสาริกา

ถ้ำสาริกา เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือเมื่อครั้งอดีตสถานที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เคยเสด็จประพาสมาเพื่อราวเอกศกจุลศักราช ๑๒๒๑ และได้ทรงสลักลายพระหัตถ์ (บันทึกการเดินทางของพระองค์) หน้าบริเวณทางขึ้นถ้ำสาริกาตามหลักฐานที่ปรากฏ

และเมื่อราว รศ. ๑๑๘ ซึ่งตรงกับ พ.ศ.๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาประพาส โดยทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทางเรือพร้อมข้าราชบริพารทางเส้นทางคลองบางสอง ร้อย ขึ้นบก ณ เกาะพลับพลา และทรงช้างเสด็จมายังถ้ำสาริกาแห่งนี้ และพระองค์ได้ทรงสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ไว้บริเวณหน้าปากทางเข้าถ้ำสาริกา นอกจากนี้ยังยังมีคำจารึกและการลงพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา ภาณุพันธ์วงศ์วรเดช (เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์) บริเวณก้อนหินซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาทางขึ้นไปยังถ้ำ โดยกล่าวถึงการเสด็จมาประพาสถ้ำสาลิกาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งปีที่เสด็จมา จึงทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่มีความหมายและความสำคัญของชาวตำบลธรรมเสน และตำบลใกล้เคียงมายาวนาน

ประวัติวัดถ้ำสาริกา

มีพระธุดงไม่แจ้งชื่อ เข้ามาอาศัยถ้ำสาริกาเพื่อจำศีลราว พ.ศ.2490 ชาวบ้านแจ้งว่าจำพรรษา อยู่ราว 10 ปี ก็ย้ายจากไปราวปี พ.ศ. 2511 จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ยังอาศัยอยู่ในถ้ำมาได้ 10 ปี แม่ชี “สาลิกา” และผู้มีศรัทธาบริจาคกุฏิ 2 หลัง สร้างบนเขาให้พระจำพรรษาพร้อมกับสร้างปูชนีวัตถุ 2 รูป คือ พระสังกระจาย และพระสีวรี พร้อมถวายเงินสร้างบันไดขึ้นถ้ำจนสำเร็จและใช้มาทุกวันนี้

วัดถ้ำสาริกา ตั้งอยู่เลขที่ – หมู่ที่ ๘ ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒๒ ไร่ ๒ งาน ๖๐ ตารางวา วัดถ้ำสาริกา สร้างเมื่อก่อน พ.ศ. ๒๕๓๐ ประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ วัดถ้ำสาริกามีอุบาสิกาลูกจันทร์ อินทุประภา เป็นผู้ริเริ่มสร้างเป็นสำนักสงฆ์ และมีพระสงฆ์แวะเวียนมาเพื่อปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง ต่อมาจึงได้รับอนุญาตให้เป็นวัดถ้ำสาริกา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ โดยบริเวณวัดและถ้ำมีต้นไม้ร่มรื่น มีความสัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ซึ่งวัดนี้มีอดีตเจ้าอาวาสมาแล้ว ๓ รูป และได้ทำความเจริญให้กับวัดและศาสนามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพระมหาเจด็จ โฆสิตธมฺโม เป็นเจ้าอาวาส

  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ศูนย์กลางข้อมูลทางวัฒนธรรม

แผนที่